ลูกสาวนึกว่าแม่ปวดฟัน เลยพาไปหาหมอ ผลตรวจออกมา พบเป็นมะเร็งลิ้นระยะสุดท้าย หมอเตือน 5 กลุ่มเสี่ยง ระวังให้ดี (ตปท.)
เรียกได้เป็นอุทาหรณ์สำหรับใครหลายคนได้เลย เมื่อเว็บไซต์ต่างประเทศ SOHA รายงานว่า หญิงวัย 70 ปี จากฮานอย ประเทศเวียดนาม มีประวัติป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและความดันโลหิตสูง ปัจจุบันเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยยังมีภาวะสมองเสื่อมตามวัยอีกด้วย
นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของลูกสาว ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยมักบ่นว่าปวดในช่องปาก ครอบครัวจึงคิดว่าเป็นอาการปวดฟันและพาไปตรวจที่คลินิกทันตกรรม แต่หลังจากตรวจแล้ว แพทย์พบความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งลิ้น จึงได้ทำการตรวจชิ้นเนื้อ
โดย ดร.เหงียน ฮง นุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช่องปากและใบหน้า เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายนี้เข้ารับการรักษาในสภาพปวดช่องปากเรื้อรัง และทานยาด้วยตัวเองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น จากนั้น ได้มีการตรวจพบก้อนเนื้องอก ขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร ในช่องปาก ก้อนเนื้อนี้มีลักษณะแข็ง มีหลายแฉก แพร่กระจายไปยังลิ้นด้านหลัง โคนลิ้น และพื้นปากด้านซ้าย
พื้นผิวของก้อนเนื้องอกมีแผลเป็นหลุมบ่อ ไม่เรียบ มีเนื้อเยื่อหลอกปกคลุม ลิ้นสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด และยังมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรซ้าย จากการตรวจร่างกายและผลตรวจที่จำเป็น แพทย์ได้วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคมะเร็งลิ้น ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มะเร็งลิ้นเป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของมะเร็งในช่องปาก และเป็นอันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งลิ้น
แต่ว่าจะมีอยู่ผู้คน 5 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งลิ้น นั่นก็คือ
1. ผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นเวลานาน
2. ผู้ที่มีสุขอนามัยช่องปากไม่ดี
3. ผู้ที่มีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม
4. ผู้ที่มีพฤติกรรมชอบออรัลเซ็กซ์ที่ไม่ปลอดภัย
5. ผู้ที่มียีนมะเร็งทางพันธุกรรม
ทั้งนี้ ดร.เหงียน ฮง นุง อธิบายว่า อาการเริ่มต้นของมะเร็งลิ้น มักไม่ชัดเจนและอาจสับสนกับโรคในช่องปากทั่วไป ทำให้ยากต่อการตรวจพบในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยหลายรายมักจะถูกวินิจฉัย เมื่อมะเร็งอยู่ในระยะท้าย ซึ่งทำให้การรักษายากขึ้น พร้อมแนะนำว่า หากมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ลิ้น แก้ม หรือในช่องปาก ควรรีบไปตรวจที่สถานพยาบาลที่เชื่อถือได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำเพื่อการตรวจพบในระยะเริ่มต้น
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ เนื่องจากมีภาวะสมองเสื่อม ทำให้จำตำแหน่งความเจ็บปวดได้บ้างไม่ได้บ้าง ครอบครัวจึงไม่ได้สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งและไม่ได้พาไปตรวจในทันที เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่า 4 เซ็นติเมตร และมะเร็งลุกลามไปยังกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และเนื้อเยื่อรอบๆ ลิ้น สำหรับเคสนี้ การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อและบริเวณที่เกี่ยวข้องออกทั้งหมด จากนั้นทำการสร้างลิ้นใหม่โดยใช้การผ่าตัดจุลศัลยกรรม
ข้อมูล SOHA